วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความรู้เบื้องต้นการร้อยมาลัยดอกไม้สด


การร้อยมาลัยดอกไม้สด



ประวัติมาลัย
                   บรรพบุรุษของไทยเรามีชื่อเสียงในงานด้านศิลปะการประดิษฐ์อย่างมากมาย   โดยเฉพาะการประดิษฐ์ตกแต่งพวงดอกไม้  ใบไม้  ผลไม้   และวัสดุอื่น ๆ  เป็นที่ขึ้นชื่อมานานแต่โบราณกาลแล้วแต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าได้มีการเริ่มต้นมาแต่ในสมัยใดแน่ คงเนื่องมาแต่ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้นั่นเอง  จึงไม่มีหลักฐานใดๆ  ให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบค้น   ต่อมาในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี   แต่ครั้งสมัยพระเจ้าอรุณมหาราช  คือพระร่วงเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีพระสนมเอก  คือ   ท้าวศรีจุฬาลักษณ์  หรือนางนพมาศซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถในงานด้านฝีมือในการประดิษฐ์ดอกไม้สดเป็นเลิศ   ในสมัยนั้นตามหลักฐานที่อ้างถึงในพระราชนิพนธ์เรื่องพระราชพิธี  ๑๒  เดือน  ตอนหนึ่งที่กล่าวถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ได้คิดตกแต่งโคมลอยให้งดงามวิจิตรกว่าโคมของพระสนมอื่นทั้งปวงโดยการนำเอาดอกไม้ต่างๆมาประดิษฐ์ตกแต่ง  และยังได้เอาผลไม้มาทำการแกะสลักตกแต่งประกอบไปด้วยแต่ก็มิได้มีการอ้างถึงว่าในการตกแต่งครั้งนั้นมีการร้อยมาลัยมาประดับตกแต่งด้วยหรือไม่และในหลักฐานที่อ้างถึงตอนหนึ่งว่า  ในเดือนเมษายนมีพระราชพิธีสนามใหญ่บรรดาเจ้าเมืองเศรษฐี  คหบดีเข้าเฝ้าถวายบังคมสมเด็จพระร่วงเจ้าเพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการ  พระสนมกำนัลต่างๆ ก็ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ  ใส่เมี่ยงหมากถวายให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  พระราชทานแก่ผู้มาเฝ้า และในครั้งนั้นนางนพมาศก็ร้อยดอกไม้สีเหลืองเป็นรูปพานทองสองชั้นรองขัน  มีระย้าระบายงดงามในขันใส่เมี่ยงหมาก แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายคลุมขันอีกทีหนึ่งเป็นที่เจริญตาและถูกกาลเทศะอีกสมเด็จพระร่วงเจ้าจึงทรงบัญญัติว่าถ้าชาวไทยทำการรับแขกเป็นการสนามใหญ่ มีการอาวาหมงคล  หรือ วิวาหมงคล  เป็นต้น ให้ร้อยกรองดอกไม้เป็นรูปพานขันหมากดังนี้  และให้เรียกว่า  พานขันหมาก   ในสมัยรัตนโกสินทร์ทุกรัชกาล  งานฝีมือด้านการประดิษฐ์ดอกไม้ก็เป็นที่ขึ้นชื่อลือชามาก  และก็เป็นที่นิยมประดิษฐ์ในงานต่าง ๆ แทบทุกงาน   โดยเฉพาะงานพิธีต่าง ๆ  ในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีพระราชนิยมการทำดอกไม้ของไทยเป็นอย่างยิ่ง  ไม่ว่าจะมีงานราชพิธีใดๆ  เจ้านายฝ่ายในต้องประกวดกันจัดแต่งดอกไม้มาถวายให้ทรงใช้ในงานนั้น ๆ เสมอ  พระมเหสีเทวีทุกตำหนักใฝ่พระทัยในการจัดแต่งดอกไม้ไปตาม ๆ กัน แต่ละพระองค์ก็มีชื่อเสียงในทางต่างๆ  กัน สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวง ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมราชินีนาถ  โปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดอบรมข้าหลวงและครูโรงเรียนราชินีให้รู้จักทำดอกไม้แห้งเลียนแบบดอกไม้สดด้วย ทรงส่งเสริมฟื้นฟูการทำดอกไม้เป็นอันมาก  พระองค์เองก็ทรงใช้เวลาว่างประดิษฐ์ดัดแปลงการทำดอกไม้แบบเก่าให้แปลกพิสดารออกไปอีก   มีพระนามเลื่องลือในการร้อยพวงมาลัย  ซึ่งแต่เดิมมาไทยนิยมร้อยมาลัยด้วยดอกมะลิ  และเป็นมาลัยสีขาวกลมธรรมดาเท่านั้นและพลิกแพลงต่างกันไปบ้างก็เป็นมาลัย


วัสดุและอุปกรณ์ในการร้อยมาลัย
วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สำคัญและจำเป็นในการร้อยมาลัย  มีดังต่อไปนี้
        ๑.ดอกไม้  ดอกไม้ที่ใช้ในการร้อยมาลัย  ได้แก่  กุหลาบ  มะลิ  เฟื่องฟ้า บานบุรี   กล้วยไม้  ผกากรอง (ดอกตูม ) กะเม็ง พุด พุทธชาด  เขี้ยวกระแต หางนกยูง ( ดอกตูม )  ดอกหญ้า   พังพวย  เล็บมือนาง มากาเร็ต ( ดอกตูม )  เบญจมาศน้ำ ( ดอกตูม )  บานไม่รู้โรย ประทัด  พิกุล    ดอกรัก  ฯลฯ
         ๒.ใบไม้   ใบไม้ที่ใช้ร้อยมาลัย ได้แก่ ใบกระบือ ใบแก้ว ใบมะยม  ใบพังพวย ใบจามจุรี         ใบดอนหญ้าขาว  ใบดอนหญ้าแดง ใบหมากผู้หมากเมีย ใบชบา    ใบโกสน  ฯลฯ
         ๓.เข็มมาลัย  มีสองขนาด คือ  ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แต่ก็ต่างกันไม่มากนัก  ควรจะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน  ถ้างานร้อยดอกไม้เล็ก ๆ หรือกลีบเล็ก ๆ ก็ควรใช้เข็มมาลัยขนาดเล็ก   แต่ถ้าร้อยดอกไม้ดอกใหญ่ หรือดอกไม้ที่มีกลีบใหญ่ ๆ  ก็ควรใช้เข็มมาลัยขนาดใหญ่และยาวกว่า
         ๔.เข็มสั้นหรือเข็มมือ ปกติใช้เบอร์ ๘ , เบอร์ ๙ อย่างชนิดยาว เพราะเป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด
         ๕.ด้าย  มีสองขนาด  คือ ใหญ่และเล็ก  ขนาดใหญ่สำหรับร้อยมาลัย  ขนาดเล็กสำหรับร้อยอุบะ เย็บหรือมัดดอกข่า และเย็บริบบิ้นหรือโบว์
         ๖.ใบตอง  สำหรับไว้ปูพื้นก่อนวางดอกไม้  ใบไม้ ห่อดอกไม้  และทำแป้น
         ๗.กระดาษทราย  สำหรับไว้ขัดเข็มมาลัย เข็มมือเมื่อมีสนิมเกาะ   ควรเลือกใช้เบอร์  ๐  เพราะมีความละเอียดที่สุด
         ๘.มีดเล็ก  มีดบางคม ๆ สำหรับไว้ตัดดอกไม้ เช่น ดอกบานไม่รู้โรย
         ๙. กรรไกร  ควรมี  ๒  ขนาด  คือ  ขนาดเล็กและขนาดกลาง
             ๙.๑ ขนาดเล็กปลายแหลมคม   ใช้สำหรับตัดกลีบดอกไม้   ใบไม้
             ๙.๒ ขนาดกลาง    สำรับตัดใบตองและด้ายในบางโอกาส
         ๑๐.คีม  สำหรับไว้จับเข็มมาลัย  ขณะที่ทำการรูดมาลัยออกจากเข็ม
         ๑๑.น้ำมันวาสลิน  สำหรับไว้ทาเข็มมาลัยก่อนร้อย   ขณะร้อยและก่อนจะรูดมาลัยออกจากเข็ม    ( ควรทาตั้งแต่จากใต้แป้นใบตองมายังก้นเข็มตรงร้อยด้าย )
         ๑๒.กะละมัง   สำหรับไว้พักดอกไม้  ใบไม้
         ๑๓.ถาด  สำหรับใส่ดอกไม้  ใบไม้  และอุปกรณ์ในการร้อยมาลัย
         ๑๔.แก้วน้ำหรือขันน้ำเล็ก  สำหรับใส่น้ำไว้พรมดอกไม้ขณะร้อย
         ๑๕.ทีฉีดน้ำ  ควรใช้ชนิดที่ปรับให้เป็นละอองฝอย ๆ ได้ สำหรับไว้พรมดอกไม้  ใบไม้จำนวนมาก
         ๑๖.ผ้าขาวบาง สำหรับไว้คลุมดอกไม้เพื่อให้สดอยู่ได้นาน

ดอกไม้ใบไม้ที่นิยมใช้ร้อยมาลัย
๑.     ดอกกุหลาบ                                  
๒.     ดอกพุดตูม
๓.     ดอกรัก
๔.     ดอกเบญจมาศน้ำ , ดอกกะเม็ง , ดอกผกากรอง , ดอกอ่อนของชบาหนู  (ในข้อ ๔ นี้ใช้สำหรับทำตาของมาลัย)
๕.     ดอกกล้วยไม้
๖.     ดอกเฟื้องฟ้า
๗.     ใบไม้ชนิดต่างๆ ที่ใบไม่กรอบพับแล้วไม่แตกหรือหักง่าย  เช่น ใบชบาด่าง , ใบกระบือ , ใบแก้ว , หูปลาช่อน , ใบเทียนทอง ฯลฯ
๘.     ต้นมันสำปะหลัง ไว้สำหรับมัดดอกข่าหรือต้นอะไรก็ได้ที่มีไส้นิ่มๆ สามารถเสียบเข็มมาลัยเข้าไปได้ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง  ½  ซม.


การถือเข็มมาลัย          
      จะต้องถือเข็มด้วยมือซ้าย  ควรถือให้ถนัดแน่นและมั่นคง  จะอยู่ระหว่าง  ๓.๕  นิ้วหรือ ๑ อุ้งมือพอดี นับจากก้นเข็มขึ้นมา เวลาจะพับกลีบดอกไม้ในการร้อยมาลัยจะต้องใช้มือขวาพับ  เพราะว่ามือซ้ายยังต้องถือเข็มอยู่  แต่ใช้วิธีดังนี้คือ  ใช้นิ้วนางและนิ้วก้อยมือซ้ายจับเข็มปัดเข็มให้เหออก แล้วใช้มือซ้ายเพียงหัวแม่มือและนิ้วชี้ช่วยมือขวา จับปลายกลีบดอกที่พับไว้เท่านั้น


การเตรียมแป้นใบตอง

       ก่อนอื่นจะต้องสำรวจดูว่าจะร้อยมาลัยอะไรบ้าง จำนวนกี่เข็ม ก็ควรทำแป้นให้ครบ   โดยถือหลักเกณฑ์ว่าการร้อยมาลัย ๑ เข็มจะต้องใช้แป้นใบตอง  ๒ อัน  ขนาดเท่ากัน  คือ ขนาดใหญ่กว่ามาลัยที่จะร้อยเล็กน้อย

การทำแป้นใบตอง

          ขนาดของแป้นใบตองนั้นขึ้นอยู่กับมาลัยที่จะร้อย  ควรให้แป้นใบตองมีขนาดใหญ่กว่ามาลัยที่จะร้อยเล็กน้อย  ไม่ควรให้ใหญ่หรือเล็กมากเกินไป  เพราะจะทำให้เกิดความไม่เหมาะสมและไม่สะดวกในตอนที่จะรูดมาลัยออกจากเข็ม วิธีการพับแป้นใบตองมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
         ๑.ฉีกใบตองขนาดเท่ากัน  ๒  ชิ้น ( ขนาดกว้าง ๑.๕  นิ้ว )  ตัดหัวและปลายให้เรียบร้อย  วางซ้อนทางด้านแข็งทำมุมฉากซึ่งกันและกัน
         ๒.พับริมใบตองด้านแข็งชิ้นที่  ๑  ทบเข้ามาเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากับขนาดความกว้างของใบตองที่ฉีกไว้
         ๓.พับริมใบตองชิ้นที่  ๒ ทบลงมาเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากับความกว้างของใบตองเช่นกัน
         ๔.มือขวาจับใบตองชิ้นที่  ๑  ด้านขวามือทบมาทางซ้าย
         ๕.ใช้มือขวาจับใบตองชิ้นที่  ๒  ทบขึ้นไปทางด้านบน
         ๖.กลับใบตองหงายขึ้นใช้มือขวาจับชิ้นที่  ๑  ทบมาทางซ้าย
         ๗. จับใบตองชิ้นที่  ๒  ทบลงมาด้านล่าง
         ๘. กลับใบตองหงายขึ้น  มือขวาจับชิ้นที่  ๒  ทบลงมา  และมือซ้ายจับชิ้นที่  ๑  ทบลงมาทางขวา
         ๙. กลับใบตองหงายขึ้น  ตัดปลายใบตองชิ้นที่    ส่วนที่เหลือทิ้งไป  ( ถ้าใบตองช่วงยาวเกินไป )

         ๑๐. ตัดริมทั้งสองของปลายใบตองชิ้นที่  ๑  ให้เล็กลงนิดหน่อย  เพื่อสะดวกและง่ายต่อการสอดเก็บปลายให้เรียบร้อย  ดังรูป



การปลิดกลีบกุหลาบ
         นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องทำให้ถูกวิธี เพื่อให้กลีบที่ปลิดออกมาแล้วจะได้ไม่บอบช้ำ ซึ่งจะช่วยคงความสวยสดอยู่ได้นานทีเดียว มีขั้นตอนละวิธีการดังนี้คือ ใช้มือซ้ายจับก้านดอกกุหลาบคว่ำลง มือขวาจับกลีบกุหลาบชั้นบนแล้วค่อยดึงเข้าหาตัว หมุนก้านกุหลาบออกข้างนอกอย่างช้า ๆ กลีบกุหลาบก็จะหลุดออกโดยไม่บอบช้ำตามที่ต้องการ

การตัดกลีบใบไม้และดอกไมั


        ดอกไม้และใบไม้บางอย่างที่ใช้ร้อยมาลัย   เช่น  ดอกเฟื่องฟ้า   ดอกบานบุรี   ใบกระบือ   ใบแก้ว  ใบมะยม   ใบชบา  ฯลฯ    ก่อนจะนำมาร้อยต้องตัดกลีบให้มีขนาดรูปทรงดังนี้ก่อน

ระวังอย่าให้ปลายแหลมหรือป้านเกินไปจะทำให้พับกลีบแล้วไม่สวยเท่าที่ควร

การพับกลีบดอกไม้

ดอกไม้บางอย่างที่ใช้ร้อยมาลัย  มีวิธีการพับ กลีบดังนี้

               ๑. การพับกลีบ  โดยพับเอาโคนกลีบออกข้างนอกในเวลาร้อย  เช่น  การพับกลีบกุหลาบ  ควรเลือกกลีบกุหลาบที่มีโคนกลีบสวยไม่มีรอยเว้าแหว่ง  ถือโคนกลีบขึ้นข้างบน  พับทบครึ่งตามยาวของกลีบ  ( เอาด้านสีเข้มไว้ข้างใน ) แล้วพับทบกลีบกลับออกมาทั้งสองข้าง  การพับกลีบวิธีนี้เมื่อร้อยแล้วมองดูจะสังเกตได้ว่ากลีบค่อนข้างเรียวแหลม

          ๒. การพับกลีบโดยพับเอาปลายกลีบออกข้างนอกในเวลาร้อย   เช่น   กลีบกุหลาบควรเลือกกุหลาบกลีบไม่ใหญ่นัก  และควรเป็นกลีบขนาดเดียวกัน  โดยพับทบครึ่งเอาด้านสีเข้มเข้าข้างในแล้วพับทบกลีบออกทั้งสองข้าง  การพับกลีบแบบนี้เมื่อร้อยแล้วมองดูจะสังเกตได้ว่ามาลัยสีเข้ม  และมีลักษณะกลีบกลมมนกว่าการพับกลีบแบบแรก

               ๓. การพับกลีบดอกไม้โดยวิธีพับแบบเอาปลายกลีบออกข้างนอกอีกแบบหนึ่ง  คือ  ม้วนกลีบทางด้านริมขวามือเข้ามาเป็นรูปหลอดกลม ๆ

         การพับกลีบแบบนี้อาจใช้สำหรับร้อยแตงลวดลาย เช่น กลีบกุหลาบ  กลีบบานบุรี กลีบกล้วยไม้มาดาม ฯลฯ    เพื่อให้เกิดลวดลายที่เด่นและแปลกออกไปจากกลีบที่ร้อยเป็นพื้นของมาลัยนั้น ๆ


การพับกลีบใบไม้

ใบไม้ที่ใช้ร้อยมาลัย  มีวิธีการพับกลีบใบแบบต่าง ๆ ดังนี้
          ๑.การพับกลีบทบครึ่งแล้วทบกลีบออกมาทั้งสองข้าง  การพับกลีบแบบนี้จะต้องตัดใบไม้ให้มีรูปทรงดังที่กล่าวมาก่อน  ควรวางด้านปลายใบขึ้นข้างบนเสมอและควรหลีกเลี่ยงเส้นกลางใบ ด้วยเพราะถ้ามีเส้นกลางใบติดอยู่ที่กลีบ จะทำให้มองดูรู้สึกแข็งกระด้างเกินไป  และไม่ควรใช้ใบอ่อนจะเหี่ยวง่าย
          ๒.การพับกลีบใบแบบทบครึ่งธรรมดาโดยไม่ต้องทบกลีบออกข้าง  จะต้องตัดใบก่อนแล้ว  การพับกลีบแบบนี้จะเห็นได้ว่า  ถึงแม้จะเป็นใบไม้ที่เล็กหรือแคบก็ใช้ได้ใบไม้ที่แข็งกรอบแตกง่าย  ควรใช้ วิธีการพับแบบนี้
        
            ๓.การพับกลีบใบแบบม้วนเป็นหลอดกลมเหมือนกับการพับกลีบดอกในข้อ ๒  แต่การพับแบบนี้จะต้องตัดกลีบดังนี้คือ  ใบไม้ควรมีความกว้างและความยาวพอเพียงการพับกลีบดอกไม้และใบไม้ย่อมขึ้นอยู่กับชนิด   ลักษณะและรูปทรงของดอกไม้และใบไม้ที่เรามีอยู่ว่าเหมาะสมกับการพับแบบใดมากที่สุด  ก็ควรใช้วิธีการพับแบบนั้น ๆ ตามโอกาสอันสมควรด้วย  เพราะดอกไม้  ใบไม้แต่ละท้องถิ่นแต่ละฤดูกาลนั้นย่อมหาได้ง่ายและยากไม่เหมือนกัน



วิธีร้อยมาลัย
      ก่อนที่จะร้อยมาลัยจะต้องใส่หรือร้อยแป้นใบตองก่อน  ๑  แป้น  อยู่ในระดับเหนือมือที่จับเข็มมาลัย  ใช้วาสลินทาเข็มให้ลื่นแล้วจึงเริ่มร้อยกลีบแรก  โดยต้องร้อยจากทางด้านซ้ายสุดแล้วกลีบต่อ ๆ มา  ค่อยหมุนตามเข็มนาฬิกา  แต่ละชั้นก็ควรให้สับหว่างกันด้วยขณะร้อย  ต้องหมั่นทาวาสลินที่เข็มด้วย  โดยเฉพาะดอกไม้ใบไม้ที่มียางมาก ๆ   และต้องพรมน้ำบ้างตามความเหมาะสม  เมื่อร้อยจบเข็มแล้ว  จะต้องใส่หรือร้อยแป้นใบตองปิดทับอีก  ๑  แป้น


วิธีการรูดมาลัยออกจากเข็ม
        ๑.พรมน้ำดอกไม้ให้ทั่วเข็มกะว่าให้เปียกถึงเข็ม ( ถ้าเป็นดอกพุดไม่ต้องพรมเพราะดอกพุดจะบานง่าย )
         ๒.ทาน้ำมันวาสลินตั้งแต่ใต้แป้นใบตองจนถึงก้นเข็ม
         ๓.คนหนึ่งจับคีมหนีบเข็มมาลัยด้านปลายเอาไว้ให้มั่นคง  อีกคนหนึ่งใช้มือขวาจับเข็มหลวม ๆ ด้วยนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้  แต่ใช้นำหนักจากนิ้วกดลงบนแป้นใบตองที่ปิดคลุมมาลัยอยู่  ส่วนมือซ้ายจับเข็มหลวม ๆ ใต้แป้นด้วยนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้  ดันแป้นใบตองขึ้นเล็กน้อย  พร้อมกับเอานิ้วกลางละนิ้วนางเข้าหนีบประกบเข็มไว้ด้วย  เพื่อกันมิให้มาลัยรวนเสียรูปทรงและลวดลาย
          ๔.ตกลงให้สัญญาณซึ่งกันและกันทั้งสองคนว่าจะดึงเข็มและรูดมาลัย  พร้อมๆ  กัน  โดยอาจใช้วิธีนับ  ๑ , , ๓   ก็ได้  เมื่อมาลัยหลุดออกพ้นเข็มแล้ว ให้หยุดดึงได้  แต่คนที่ดึงหรือรูดมาลัยยังจะต้องค่อย ๆ ประกอบมาลัยอยู่ระหว่างช่วงกลางของด้าย  แล้วจัดดอกให้เรียงเข้าที่เดิมให้เรียบร้อยด้วย
         ๕. ถ้ารูดมาลัยออกจากเข็มแล้ว  เกิดการหดหรือเบียดแน่นเกินไป  ก็ควรตกแต่งปรับรูปทรงให้ดีขึ้น  โดยใช้วิธีถือปลายด้ายข้างละมือทั้ง  ๒  คน   แล้วขยับเขยื้อนดึงด้ายไปมาเล็กน้อย   มาลัยก็จะคลายขยายตัวออกได้แต่ไม่ควรดึงมาก  จะทำให้มาลัยยืดยานเกินไปก็เสียรูปทรงได้เช่นกัน










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น